ผลงานนักศึกษา ป.ตรี ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย Stanford สหรัฐอเมริกาให้ไปนำเสนอผลงานเชิงสาธิต ในงานประชุมวิชาการ FabLearn 2014 ซึ่งจัดขึ้นที่ Stanford ในระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2557 ทั้งนี้มี ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ เป็นผู้นำทีมในครั้งนี้
รายละเอียดผลงานที่นำเสนอ
ผลงานชื่อ I/O Blocks เป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้นักวิจัยและครูสามารถนำไปใช้สร้างสื่อ, เกม, เครื่องมือ ทางการศึกษาที่ขับเคลื่อนด้วยระบบสมองกลฝังตัว I/O Blocks ประกอบไปด้วยวงจรขนาดเล็ก (โหนด) ที่สามารถเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายแบบกริด (ขยายได้ตามแกนนอนและแกนตั้ง) แต่ละวงจรมีหมายเลขประจำตัวและมีอินพุต,เอาท์พุตจำนวนหนึ่งที่สามารถสั่งงานได้จากคอมพิวเตอร์ จุดเด่นของ I/O Blocks คือสามารถตรวจสอบการเพิ่มหรือลดโหนดได้ทันทีที่เกิดการเปลี่ยนแปลง และสามารถแสดงโครงสร้างการเชื่อมต่อได้ ทำให้ I/O Blocks เหมาะที่จะนำไปใช้กับโครงงานที่ต้องเพิ่มลดชิ้นส่วนในขณะใช้งาน ซึ่งในการนำเสนองานครั้งนี้ได้สร้างตัวอย่างขึ้นสองชิ้นคือ (1) เกมสะกดคำ และ (2) ระบบเขียนควบคุมรถหุ่นยนต์ด้วยบล๊อกคำสั่ง
- ดาวน์โหลดเอกสาร IO Blocks – FabLearn 2014 Demo เป็นไฟล์ PDF
ที่มาของโครงงานและการสนับสนุนจาก Stanford
ผลงาน I/O Blocks เกิดขึ้นภายใต้กิจกรรม LIL Summer Project 2013 ซึ่งจัดโดยห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเทคโนโลยีการเรียนรู้ (Learning Inventions Lab หรือ LIL) เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ได้ใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนในการฝึกและเรียนรู้ทักษะการเป็นวิศวกรผ่านทางการทำโครงงาน หลังจากที่คุยแนวคิดของ I/O Blocks แล้วทีมนักศึกษาสี่คนก็ได้ร่วมเขียนเอกสารเสนอหัวข้อโครงงานไปยังห้องปฏิบัติการ Trans formative Learning Technologies Lab (TLTL) ณ มหาวิทยาลัย Stanford เพื่อขอรับการสนับสนุนภายใต้โครงการ TLTL Fellowship ของทางห้องปฏิบัติการ และได้รับการคัดเลือกให้ทำชิ้นงานนี้ หลังจากนั้นก็มีการรายงานผลความคืบหน้าให้กับทาง Stanford เป็นระยะๆ ผ่านทาง Skype และนักศึกษาสามคนได้ใช้เวลาทำงานอย่างต่อเนื่องจนสามารถเขียนบทความส่งเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ FabLearn 2014 และผ่านการพิจารณา โดยทาง Stanford ได้มอบทุนการเดินทางบางส่วนให้กับนักศึกษาด้วย
ผลที่ได้รับจากการนำเสนอผลงาน
- เนื่องจากผลงาน I/O Blocks เป็นการนำเสนอเชิงสาธิต นักศึกษามีพื้นที่นำเสนอผลงานตั้งไว้กลางลานซึ่งใช้เป็นที่พักเบรกและรับประทานอาหารคล้ายการออกบู๊ท ปรากฏว่ามีผู้สนใจงานของนักศึกษาจำนวนมาก และนักศึกษาต้องนำเสนองานตนเองตลอดช่วงเวลาที่กำหนดไว้ให้ ซึ่งนอกจากการได้เผยแพร่ผลงานทางวิชาการของตนแล้ว นักศึกษาได้ฝึกฝนการนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษ ตลอดจนได้ประสบการณ์จากมุมมองของผู้ฟังที่ซักถามรายละเอียดตลอดจนให้ข้อเสนอแนะ
- ในช่วงเลิกงานนักศึกษาได้ไปเยี่ยมชมคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และได้เห็นบรรยากาศการเรียน ได้ชมผลงานที่มีการนำแสดง
- นอกจากนั้นนักศึกษายังได้ทำความรู้จักกับทีมงานที่ Stanford ตลอดจนผู้เข้าร่วม ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้สามารถร่วมงานกันได้ในอนาคตต่อไป
บรรยากาศการเดินทาง
ภาพหลังการนำเสนอผลงาน
ขณะนักศึกษากำลังนำเสนองานให้กับผู้เข้าชม
บรรยากาศงานสัมมนา FabLearn 2014
ดูงาน ณ สำนักงานใหญ่ของ Intel
ดูงาน ณ สำนักงานใหญ่ของ Google